ใหม่! เข้าสู่ระบบเพื่อจัดการบัญชีของคุณ ดูบันทึก ดาวน์โหลดรายงาน (PDF/CSV) และดูข้อมูลสำรองของคุณ เข้าสู่ระบบที่นี่!
แชร์บทความนี้:

ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับปากมดลูก การตรวจคัดกรองปากมดลูก และการป้องกันโรคปากมดลูก

ปากมดลูกมีหน้าที่อะไรบ้าง? ควรตรวจคัดกรองปากมดลูกบ่อยแค่ไหน? แนวทางใหม่ในการตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap test) เปลี่ยนแปลงความถี่อย่างไร? เรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับปากมดลูก สุขภาพและโรคของปากมดลูก ตลอดจนคำแนะนำในการตรวจคัดกรองค่ะ

แผนภาพปากมดลูกพร้อมข้อมูลสุขภาพ การตรวจ และการป้องกันโรค

ปากมดลูกเป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์หญิง ตั้งอยู่สุดปลายของช่องคลอด มีหน้าที่ปกป้องโพรงมดลูกและมีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรทางช่องคลอด ในบทความนี้คุณผู้หญิงจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ:

  • กายวิภาคและตำแหน่งของปากมดลูก
  • โรคที่พบบ่อยในปากมดลูก
  • ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจคัดกรองปากมดลูก
  • วิธีป้องกันโรคปากมดลูก

กายวิภาคของปากมดลูก

ปากมดลูกเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ถึงจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีบทบาทสำคัญ ทั้งในการตั้งครรภ์ การคลอด การดูแลภาวะเจริญพันธุ์ และเกี่ยวข้องกับรอบเดือนค่ะ

ปากมดลูกเป็นอวัยวะทรงกระบอกอยู่ปลายสุดของโพรงมดลูก เชื่อมระหว่างโพรงมดลูกกับช่องคลอด โดยปกติ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร สร้างจากเนื้อเยื่อเส้นใยกับกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก

ส่วนเอ็กโตเซอร์วิกซ์ (Ectocervix) คือตำแหน่งนอกสุดของปากมดลูก มีรูเปิดเล็ก ๆ เรียกว่า external os ส่วนเอนโดเซอร์วิกซ์ (Endocervix) คือช่องภายในที่เชื่อมไปยังโพรงมดลูก มีปลายที่ internal os

ภายในปากมดลูกบุด้วย เซลล์เอพิทีเลียมทรงกระบอก ซึ่งผลิตเมือกที่มีลักษณะแตกต่างกันตามรอบเดือน มีต่อมและปลายประสาทมาก ตำแหน่งของปากมดลูกเปลี่ยนแปลงได้ตามระยะรอบเดือน ช่วงตั้งครรภ์ และวัยหมดประจำเดือน

หน้าที่ของปากมดลูก

ปากมดลูกผลิตเมือกและช่วยให้ของเหลวเข้าออกโพรงมดลูกได้ แต่ปากมดลูกอวัยวะเล็กนี้เองก็มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดเวลาคลอดบุตรทางช่องคลอดค่ะ

หน้าที่หลักของปากมดลูก ได้แก่:

  • ปกป้องโพรงมดลูก: ปากมดลูกทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างช่องคลอดกับโพรงมดลูก ถึงจะมีช่องเปิดเล็ก ๆ ซึ่งเปลี่ยนขนาดได้ตามรอบเดือนและการตั้งครรภ์ แต่ก็แคบเกินกว่าสิ่งแปลกปลอมจะผ่านเข้าไป ทำให้สามารถใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ถ้วยอนามัย ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องกลัวหายในช่องคลอดค่ะ
  • ป้องกันการติดเชื้อ: ปากมดลูกมักจะเป็นอวัยวะแรกที่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อ ต่อมต่าง ๆ จะผลิตเมือกตลอดเวลา และเมือกนี้จะเปลี่ยนสีหรือกลิ่นเมื่อมีการติดเชื้อ นอกจากนี้เมือกยังเป็นเกราะกายภาพกันไม่ให้เชื้อโรคจากช่องคลอดเข้าสู่โพรงมดลูก ตัวเมือกมีความเป็นกรดเล็กน้อย ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
  • ช่วยการเดินทางของอสุจิ: ในช่วงตกไข่ เมือกปากมดลูกจะบางและยืดหยุ่นขึ้น พร้อมกับค่า pH เพิ่มขึ้น ทำให้สเปิร์มผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ง่ายขึ้นเพื่อปฏิสนธิกับไข่
  • ระบายประจำเดือน: ปากมดลูกเปิดให้เลือดประจำเดือนออกจากโพรงมดลูกสู่ช่องคลอดในแต่ละรอบเดือน
  • ตั้งครรภ์: ขณะตั้งครรภ์ปากมดลูกจะสร้างเมือกอุดช่องเปิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปถึงทารก มักจะหลุดออกก่อนคลอดเล็กน้อยซึ่งเป็นสัญญาณต้นของการคลอด
  • การคลอดบุตร: เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะนิ่มและขยายกว้างขึ้น หลังจากเมือกที่อุดช่องเปิดหลุดออก ดัชนีของการขยายตัวบ่งชี้ระยะเวลาการคลอด
  • ตัวบ่งชี้ภาวะเจริญพันธุ์: การเปลี่ยนตำแหน่งและเนื้อสัมผัสของปากมดลูกสามารถบอกช่วงต่าง ๆ ของรอบเดือน เช่น ช่วงตกไข่ปากมดลูกจะสูงขึ้น อ้าออก และผลิตเมือกมากขึ้นเพื่อให้อสุจิผ่านง่าย

สุขภาพและโรคปากมดลูก

สุขภาพของปากมดลูกเป็นเรื่องซับซ้อน ปากมดลูกมีโอกาสติดเชื้อหรือมีความผิดปกติจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปรสิตต่าง ๆ ได้สูง

สาเหตุที่ปากมดลูกติดเชื้อง่ายเนื่องจากตำแหน่ง อิทธิพลของฮอร์โมน และโครงสร้างของเซลล์

จากตำแหน่งของอวัยวะเองทำให้สัมผัสกับเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจุลินทรีย์ในช่องคลอดโดยตรง

อีกทั้งปากมดลูกยังตอบสนองไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นในช่วงรอบเดือน ขณะตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งทำให้เมือกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ส่งผลให้ปากมดลูกอ่อนแอและเสี่ยงต่อเชื้อโรคมากขึ้น

รวมทั้งเซลล์ปากมดลูกยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงจนเกิดการติดเชื้อหรือกลายเป็นมะเร็งได้มากกว่าอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่น

อาการที่มักเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคที่ปากมดลูก ได้แก่:

  • เลือดออกผิดปกติ (เช่น ระหว่างรอบเดือน ขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ หลังหมดประจำเดือน)
  • ประจำเดือนมามากหรือยาวนานผิดปกติ
  • ตกขาวผิดปกติ (เช่น มีเลือดปน สีเทา เขียว เหลว หรือเหมือนชีส)
  • กลิ่นเปลี่ยนไป
  • ปวดท้องน้อย
  • รู้สึกไม่สบายขณะมีเพศสัมพันธ์หรือขณะใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับประจำเดือน
  • ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น

โรคและความผิดปกติของปากมดลูกที่พบบ่อย

ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)

คือการอักเสบของปากมดลูกโดยมักเกิดจากการติดเชื้อหรือสารระคายเคือง มีอาการตกขาวผิดปกติ ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ และเลือดออกนอกประจำเดือน

ปากมดลูกเอ็กโทรเปียน (Cervical ectropion)

สภาพนี้เกิดเมื่อเซลล์จากผิวในปากมดลูกมาเจริญบนผิวนอก มักไม่อันตราย แต่ทำให้มีตกขาวและเลือดซึม

ติ่งเนื้อปากมดลูก (Cervical polyps)

เจอติ่งเนื้อปากมดลูกได้บ่อย เป็นก้อนเนื้อเล็ก ๆ ไม่ร้ายแรง แต่อาจทำให้เลือดออกผิดปกติหรือมีตกขาว

เซลล์ผิดปกติ (Cervical dysplasia)

คือภาวะที่มีเซลล์ผิดปกติบนปากมดลูก มักตรวจพบจากแป๊บสเมียร์ หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต

ภาวะปากมดลูกไร้สมรรถภาพ (Cervical incompetence)

เกิดเมื่อลำคอของปากมดลูกเริ่มเปิดระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

ปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)

หมายถึงภาวะที่ปากมดลูกแคบผิดปกติ ทำให้เลือดสตรีไหลออกยากขึ้น ปวดท้องมากขึ้น และอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

คือเนื้อร้ายเติบโตที่ปากมดลูก สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus)

ซีสต์นาบอเธียน (Nabothian cysts)

เป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ไม่ร้ายแรงที่ปากมดลูก พบบ่อยขณะตรวจภายในและแทบไม่ต้องรักษา หากเจ็บหรือมีเลือดออกผิดปกติ สามารถผ่าตัดเล็กออกได้

เซลล์ปากมดลูกสึก (Cervical erosion)

เกิดเมื่อผิวนอกที่ปกป้องปากมดลูกหายไป เสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้มีเลือดซึมหรือตกขาวได้

เนื้องอกปากมดลูก (Cervical fibroids)

เป็นก้อนเนื้อไม่ร้ายแรงที่เกิดบนหรือใกล้ปากมดลูก หากก้อนใหญ่จะทำให้เกิดแรงกด เจ็บหรือเลือดออกผิดปกติ

การติดเชื้อปากมดลูก

เชื้อหนองในแท้ หนองในเทียม เริม และการติดเชื้ออื่น ๆ สามารถส่งผลต่อปากมดลูก ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้

Advertisement


ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคปากมดลูก

  • เพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันหรือมีคู่นอนหลายคน: ปากมดลูกเป็นอวัยวะที่สัมผัสกับเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยตรง หากมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (รวมถึง HPV) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทั้งมะเร็งและการอักเสบ
  • การสูบบุหรี่: สารในบุหรี่ส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกัน ทำลายเซลล์ปากมดลูก และขัดขวางการกำจัดเชื้อ HPV
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี โรคเรื้อรัง HIV/AIDS หรือการใช้ยากดภูมิ เพิ่มโอกาสเกิดโรคปากมดลูก
  • รับประทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ดนาน: โดยเฉพาะมากกว่า 5 ปีขึ้นไป แต่ความเสี่ยงจะลดลงเมื่อหยุดใช้
  • ตั้งครรภ์หลายครั้ง: การเคยคลอดลูกมากกว่า 3 คนขึ้นไปเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง
  • พันธุกรรม: หากมารดา ยาย หรือญาติสนิทเคยเป็นมะเร็งปากมดลูก ท่านมีแนวโน้มเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • อายุ: มะเร็งปากมดลูกพบได้บ่อยในผู้หญิงอายุ 35-44 ปี

การตรวจคัดกรองปากมดลูก

การตรวจคัดกรองปากมดลูก หรือที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ (Pap smear) คือวิธีที่สูตินรีแพทย์ใช้เก็บเซลล์ในปากมดลูกด้วยก้านสำลีเพื่อตรวจวิเคราะห์ว่ามีความผิดปกติซึ่งบ่งชี้การติดเชื้อ HPV หรือมะเร็งปากมดลูกหรือไม่

เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานที่มักทำควบคู่กับการตรวจภายใน โดยแนะนำให้ผู้หญิง ตรวจแป๊บสเมียร์ทุก 3 ปี ระหว่างอายุ 21–65 ปี หรือจะตรวจควบกับ HPV test ก็ได้ และตั้งแต่อายุ 30–65 ปี สามารถตรวจ HPV test เพียงอย่างเดียวได้ทุก 5 ปี หากเคยตรวจพบ HPV, มีคู่นอนหลายคน หรือเคยมีเซลล์ผิดปกติอาจต้องตรวจถี่ขึ้น

แต่เดิมเคยแนะนำให้ตรวจทุกปี ปัจจุบันแนวทางใหม่ระบุว่า ทุก 3–5 ปีเพียงพอ เพราะเซลล์ที่ผิดปกติใช้เวลานานกว่าจะกลายเป็นมะเร็ง

การติดตามผลกรณีตรวจพบความผิดปกติ

หากพบว่ามีเชื้อ HPV ที่สัมพันธ์กับมะเร็ง หรือพบเซลล์ผิดปกติ แพทย์จะนัดตรวจติดตามเพิ่มเติม

คอลโปสโคปี (Colposcopy)

เป็นการส่องกล้องขยายที่ปากมดลูก ช่องคลอด และแคม โดยทายาที่ช่วยให้สังเกตเซลล์ผิดปกติได้ชัดขึ้น และอาจเจาะชิ้นเนื้อเพิ่มเติม

การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)

การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อเล็ก ๆ จากปากมดลูกไปตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าเซลล์มีความเสี่ยงกลายเป็นมะเร็งหรือไม่

วิธีป้องกันมะเร็งและโรคปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในโรคที่สามารถป้องกันได้มากที่สุด คุณผู้หญิงสามารถลดความเสี่ยงได้โดยฉีดวัคซีน HPV (ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์) และหากตรวจพบไวเร็วในระยะเริ่มต้นก็รักษาได้ง่ายและได้ผลดี

วิธีป้องกัน ได้แก่:

  • ฉีดวัคซีน HPV ก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • ตรวจแป๊บสเมียร์หรือ HPV test สม่ำเสมอ ตามคำแนะนำแพทย์
  • ใช้ถุงยางอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อ HPV
  • ลดจำนวนคู่นอน
  • งดสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารสมดุลเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ น้ำหนักสมดุล
  • พักผ่อนเพียงพอและดูแลความเครียด
  • หากใช้ยาคุมกำเนิดควรหลีกเลี่ยงกินระยะยาวหลายปี

อย่างไรก็ตาม มะเร็งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคปากมดลูกเท่านั้น การติดเชื้อเรื้อรังในปากมดลูกอาจส่งผลต่อการมีบุตรด้วย

วิธีลดความเสี่ยงติดเชื้อในปากมดลูกมีดังนี้:

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางและเปลี่ยนทุกครั้งที่ใช้เสร็จ
  • ไปตรวจภายในและตรวจคัดกรองตามแพทย์นัด
  • ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นให้ถูกวิธี โดยเช็ดจากหน้าไปหลัง
  • งดสวนล้างช่องคลอด
  • ใส่กางเกงในผ้าฝ้ายหรือผ้าธรรมชาติ
  • ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์หรือหลังช่วยตัวเอง
  • ควบคุมภาวะเบาหวาน หรือโรคที่กระทบกับภูมิคุ้มกัน
  • ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง รับประทานเท่าที่แพทย์สั่งและจนครบโดส
  • ใช้สบู่ที่อ่อนโยน ไม่มีกลิ่น และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจระคายเคืองจุดซ่อนเร้น
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอด/แผ่นบ่อย ๆ

ปากมดลูกที่แข็งแรง

ถึงปากมดลูกจะเป็นอวัยวะเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญต่อสุขภาพและการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอย่างมาก คุณผู้หญิงไม่ต้องตกใจหากตรวจเจอ HPV, การติดเชื้อ หรือเซลล์ผิดปกติ ปัจจุบันการรักษาก้าวหน้ามาก มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่รักษาได้เร็วและอัตรารอดสูงที่สุด สิ่งสำคัญคือฉีดวัคซีน HPV มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และตรวจสุขภาพตามกำหนดค่ะ

ดาวน์โหลด WomanLog ได้เลยค่ะ:

ดาวน์โหลดบน App Store

ดาวน์โหลดบน Google Play

แชร์บทความนี้:
https://my.clevelandclinic.org/health/body/23279-cervix
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervicitis/symptoms-causes/syc-20370814
https://www.cancer.gov/types/cervical
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC11011172/
https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/hormones/oral-contraceptives-fact-sheet
https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-and-cancer
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK568392/
Advertisement


ทุกคนมีกลิ่นตัว และกลิ่นเฉพาะตัวเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง การมีกลิ่นตัวแรงอาจกลายเป็นปัญหาในการสื่อสารระหว่างบุคคลได้ และการเปลี่ยนแปลงกลิ่นตัวโดยกะทันหันอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพแอบแฝง หรือในบางกรณี อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายก็ได้
ผ่านมาแล้วมากกว่าสี่ปีนับตั้งแต่มีการระบุพบโควิด-19 ครั้งแรก ในช่วงเวลานี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 700 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเกือบ 7 ล้านคน
เราทุกคนต่างรู้ว่าการดูแลสุขอนามัยในช่องปากอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญต่อฟันที่แข็งแรงและสุขภาพดี แต่หลายคนมักจะเริ่มกังวลเรื่องสุขภาพช่องปากก็เมื่อตอนที่เกิดปัญหาแล้ว ที่จริงเราควรต้องการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด โดยเฉพาะเมื่ออาการเจ็บปวดจากโรคฟันและเหงือกอาจรุนแรงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าได้ถ้าไม่ได้รับการดูแล ที่บทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้วิธีส่งเสริมสุขภาพฟันและเหตุผลที่สุขอนามัยช่องปากมีความสำคัญ